แคท น่ารักจัง

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เด็กกับอินเตอร์เน็ต










มีการคาดการณ์จากองค์กรเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ ถึงจำนวนเด็กที่เล่นอิน-เทอร์เน็ต ใน ปี 2005 จะเพิ่มจำนวนเป็น 77 ล้านคน ในจำนวนนี้คาดว่าเป็นเด็กไทยประมาณ 3 แสนคน




นับว่าเป็นเรื่องดีที่เด็กหันมาใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารและค้นคว้า เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์สู่เทคโนโลยี แต่อีกนัยหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอินเทอร์เน็ตยังคงเป็นดาบสองคมที่พร้อมจะส่งผลร้ายต่อผู้เล่นได้ หากการก้าวเข้าหานวัตกรรมล้ำยุคนี้ ขาดความเข้าใจที่ดีพอ โดยเฉพาะกับเด็ก วัยแห่งความอยากรู้อยากเห็น ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมาแล้วที่สหรัฐอเมริกา




แซมอายุ 14 ปี เพิ่งเริ่มเล่นอินเทอร์เน็ตได้ไม่นานก็ไปรู้จักกับเด็บบี้ในแชทรูม เด็บบี้บอกว่าอายุเท่าแซม ทั้งสองติดต่อกันอยู่นานจนเริ่มชอบพอกัน และวันหนึ่งก็ชวนกันออกเดท โดยเด็บบี้บอกแซมว่าไม่ต้องบอกพ่อแม่ แซมได้รู้ในวันนั้นว่าเด็บบี้ที่คุยกับเขา ที่แท้เป็นชายสูงวัย และวันนั้นเองแซมก็ถูกข่มขืนโดยชายคนนั้น




เรื่องทั้งหมดถูกเปิดเผยขึ้นเพราะพ่อแม่ของแซมสังเกตเห็นพฤติกรรมของลูกที่เปลี่ยนไป และถามความจริง จนรู้ว่า ลูกตัวเองถูกข่มขืน จึงได้แจ้งจับชายคนนั้น ตำรวจใช้ความพยายามอยู่นานกว่าจะเจอชายคนดังกล่าว และได้พบหลักฐานทั้งรูปภาพเด็กชาย ที่แสดงให้เห็นว่าชายคนดังกล่าวเป็นพวก "รักเด็กชาย"




เรื่องไม่จบแค่นั้น หลังจากนั้นไม่นานแซมกลายเป็นเด็กเก็บกด และเรื่องที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น เมื่อวันหนึ่งมีเด็กชายอายุ 13 ปีคนหนึ่ง ผ่านมาขายของหน้าบ้านแซม แซมไม่ได้ซื้อของแต่พยายามบังคับข่มขืนเด็กชายคนนั้น แต่เด็กคนนั้นขัดขืน แซมเลยตัดสินใจฆ่า และนำศพไปทิ้งหลังบ้าน และตำรวจตามมาพบในที่สุด จึงกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต และทำให้สหรัฐหันกลับมาพูดคุยเรื่องอินเทอร์เน็ตกับเด็กมากขึ้น


อินเทอร์เน็ตอันตรายต่อเด็กอย่างไร




ภาพความรุนแรงระหว่างเด็กกับอินเทอร์เน็ตในบ้านเราอาจจะไม่รุนแรงเท่ากับประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีทั้งหลาย หากแต่พิจารณาตามศักยภาพและตัวเลขการใช้อินเทอร์เน็ต หรือการเปิดบริการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ที่เติบโตขึ้นเรื่อยมา ทำให้หลายคนอดเป็นห่วงอันตรายจากอินเทอร์เน็ตที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก




จากประสบการณ์การทำงานด้านอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ จิตราภรณ์ วนัสพงศ์ เจ้าหน้าที่ข้อมูลและสื่อสาร มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาทางเพศจากเด็ก (เอ็กแพค) ให้ข้อมูลว่า พบอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นกับเด็กซึ่งเล่นอินเทอร์เน็ตในหลายรูปแบบ




อย่างแรกคือภาพหรือข้อมูลที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก นอกเหนือจากเวบลามกแล้ว ยังมีเวบที่มีข้อมูลที่มีนัยทางสังคม เช่น เวบที่สนับสนุนให้ก่อความรุนแรง หรือเวบที่กล่าวถึงการเหยียดสีผิว เวบที่กล่าวถึงยาเสพย์ติด หรือเวบที่สอนทำระเบิดขวด เวบเหล่านี้อาจส่งผลต่อความคิดของเด็ก และส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กในอนาคต




เช่นกรณีของเด็กในยุโรปเจอเวบไซต์ที่เกี่ยวกับการทำระเบิดขวดแล้วลองทำด้วยตัวเองโดยที่พ่อแม่ไม่ทราบ แล้วนำไปโยนเล่น จนเกิดเป็นเหตุสลดใจ ซึ่งในที่สุดเด็กสารภาพว่านำความรู้มาจากอินเทอร์เน็ต




เมื่อเด็กไปเจอกับเวบไซต์ที่ไม่เหมาะสม จึงเป็นเหมือนสะพานนำเด็กไปพบกับบุคคลที่ไม่หวังดีได้ ยกตัวอย่างเช่นกรณีของการเล่นแชท เด็กอาจถูกล่อลวงจากผู้ใหญ่ที่มีความผิดปกติทางจิต หรือเป็นพวกนิยมมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอย่างกรณีตัวอย่างของแซมเป็นต้น ซึ่งไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นกับบ้านเราในวันหนึ่งข้างหน้า




อันตรายในลำดับถัดมายังพบว่า เด็กในปัจจุบันใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากเกินไป ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยตรงแล้ว ยังเป็นการลดความสัมพันธ์กับสังคมในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะการมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว เด็กจะหันไปสร้างความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เป็นความรู้สึกแบบฉาบฉวย และทำให้เด็กไม่กล้าสื่อสารโดยการพูด สังเกตได้ง่ายๆ ถ้าเด็กพูดน้อยลง


แล้วจะปกป้องอย่างไร




การออกกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นความพยายามอย่างหนึ่งที่จะสกัดกั้นอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก โดย "เนคเทค" หรือ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พยายามออกกฎหมายออกมาหลายฉบับ แต่ส่วนใหญ่เน้นที่การปกป้องธุรกิจอินเทอร์เน็ตมากกว่า




นอกจากนี้ ยังพยายามเพิ่มเติมโทษในกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับสื่อลามกอนาจาร จากเดิมที่เอาผิดเฉพาะผู้จำหน่ายเท่านั้น ก็เอาผิดเพิ่มเติมกับคนที่มีสื่อลามกไว้ในครอบครองด้วย โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตซึ่งเด็กคงต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจังมากขึ้น




"กฎหมายนี้เอื้อประโยชน์กับการละเมิดสิทธิเด็กในเวลาเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาเราจับเฉพาะผู้ขายแต่ตอนนี้ผู้ที่ซื้อหรือคนที่มีไว้ในครอบครองด้วย ซึ่งรวมถึงภาพลามกบนอินเทอร์เน็ตก็เช่นกัน"




อย่างไรก็ตาม การตามจับกุมผู้กระทำผิดทางอินเทอร์เน็ตตามจับกุมได้ยากมาก เพราะไม่สามารถทราบได้เลยว่าคนที่เป็นเจ้าของอยู่ที่ใด และอาจใช้เซิร์ฟเวอร์จากเมืองนอกได้ การหวังพึ่งกฎหมายเพียงอย่างเดียวคงไม่อาจสกัดกั้นได้




ในด้านเทคนิค จิตราภรณ์ กล่าวว่า ตอนนี้มีซอฟต์แวร์ เรียกว่าFiltering Software ทำหน้าที่กลั่นกรองเวบไซต์ ตลอดจนภาพที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก โดยนำไปติดไว้กับคอมพิวเตอร์ เด็กก็ไม่สามารถเข้าไปดูเวบเหล่านั้นได้




นอกจากเหนือจากการป้องกันในระดับนโยบาย จิตราภรณ์เสนอว่า จำเป็นต้องมีความร่วมมือกันในระดับภาคธุรกิจอินเทอร์เน็ตเช่นกัน เพราะภาคธุรกิจเป็นตัวจักรสำคัญที่สร้างกระแสการใช้อินเทอร์เน็ตให้เข้ามาสู่กลุ่มเด็กมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากแผนการตลาดของบางบริษัทที่ขยายเข้าไปสู่กลุ่มเด็ก คำถามคือ ภาคธุรกิจคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับเด็กอย่างไรบ้าง




มีตัวอย่างความพยายามประสานความร่วมมือกันของกลุ่มไอเอสพี เรื่องการกลั่นกรองคำพูดหรือรูปภาพที่ไม่เหมาะสม จากรายการทางยุโรปมีการรวมตัวกันของกลุ่มไอเอสพียุโรป โดยใช้ชื่อว่า Euro ISPA ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของไอเอสพีทั่วยุโรป 500 แห่ง ร่วมกันทำร่างกฎหมาย คล้ายกับจรรยาบรรณ ซึ่งมีข้อตกลงหลายๆ อย่างที่ควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ผิด โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก




โดยจะมีเวบตักเตือนหรือสัญญาเตือนหากมีเวบไม่เหมาะสมปรากฏขึ้น และออกข้อตกลงสำหรับตรวจสอบการทำงานของไอเอสพีด้วยกัน หากไอเอสพีใดไม่ปฏิบัติตามก็อาจจะมีการลงโทษ ซึ่งจิตราภรณ์มองว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในเมืองไทย




เรื่องการเพิ่มโทษตามกฎหมาย รวมถึงการขอร้องจากไอเอสพีเอง เป็นการลดทอนอันตรายจากอินเทอร์เน็ตที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเท่านั้น เพราะในท้ายที่สุดแล้ว หากเด็กยังขาดความรู้และความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว ย่อมมีสิทธิ์พลาดพลั้งให้กับคนที่จ้องจะหาผลประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต




ดังนั้น การให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับเด็กจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ควรจะทำให้เขารู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เมื่อคิดจะท่องโลกอินเทอร์เน็ต




ในนิวซีแลนด์มีแคมเปญรณรงค์เพื่อให้ความรู้กับเด็ก โดยพยายามสร้างความเข้าใจในอันตรายเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ต ทั้งสอนในห้องเรียน และเผยแพร่ตามสื่อทั่วไป นอกจากนี้ยังเลยไปถึงกลุ่มคนรอบข้างอย่างพ่อแม่ ที่พร้อมจะอธิบายให้เด็กรู้ถึงอันตรายด้วยเช่นกัน




นอกจากนี้ยังออกเป็นข้อห้ามให้เด็กท่องก่อนการใช้อินเทอร์เน็ต เช่น ห้ามบอกชื่อที่อยู่หรือข้อมูลของตัวเด็กให้กับคนในแชท นอกจากขออนุญาตจากพ่อแม่ก่อน ห้ามให้เบอร์บัตรเครดิต หรือเลขที่บัญชีเงินฝาก ห้ามให้พาสเวิร์ด ห้ามโต้ตอบกับข้อความหยาบคาย และที่สำคัญห้ามไปพบกับคนที่นัดหมายมาจากการแชท เป็นต้น




สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องห้ามเด็กเพราะว่าเด็กส่วนใหญ่ที่ไม่เคยเล่นอินเทอร์เน็ต เชื่อว่าสิ่งที่คู่สนทนาบอกนั้นเป็นความจริง ยกตัวอย่างเช่นกรณีของแซม ดูเหมือนว่าทางป้องกันทางใด ก็ไม่น่าจะมีประสิทธิภาพ เท่ากับการเอาใจใส่ของครอบครัว หรือครู เพราะไม่ว่าเด็กจะไปเจอกับอะไรบนอินเทอร์เน็ต เด็กก็ยังรู้ว่ามีคนที่เขาจะขอคำปรึกษาได้


ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนรายวิชา อินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ของ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม